26.2.52

พรหมวิหาร 4

จากบล็อกหน้าที่แล้ว ที่สะดุดใจกับคำว่า "อุเบกขา" เอ คุ้นๆ ... ลองนึกดู เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เรียกว่า "พรหมวิหาร 4" ใช่รึเปล่าน้า ... เพื่อให้คลายสงสัย จิ้มกูเกิ้ลทันที


ผลออกมาถูกต้อง ค่อยยังชั่ว ความรู้ที่เคยเรียนมายังพอมีหลงเหลืออยู่บ้าง ... เปิดเจอก็ค่อยๆ อ่าน ทบทวนความรู้เดิม แล้วอ่านซ้ำย้ำให้จำแม่นขึ้น ... เลยเก็บมาใส่ในบล็อกจะได้เปิดอ่านย้ำๆ ซ้ำๆ ได้บ่อยๆ


: พรหมวิหาร 4 :
พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่



เมตตา : ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข

ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น


กรุณา : ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

- กายิกทุกข์ คือ ทุกข์โดยสภาวะ หรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย เช่น การเกิด การเจ็บไข้ ความแก่และความตายสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

- เจตสิกทุกข์ คือ ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เช่น เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์



มุทิตา : ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี

คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน เราต้องหมั่นฝึกหัดตนให้เป็นคนที่มีมุทิตา เพราะจะสร้างไมตรีและผูกมิตรกับผู้อื่นได้ง่ายและลึกซึ้ง



อุเบกขา : การรู้จักวางเฉย

การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม


อ่านไปก็พยักหน้าหงึกหงักอยู่คนเดียว ... เป็นหลักธรรมที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ทำได้แบบนี้เราเองก็มีความสุข คนที่อยู่รอบๆ ข้างก็มีความสุข


ธรรมะโอสถ เป็นยาวิเศษจริงๆ

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยเรียนนานแล้ว พอได้อ่านอีกทีก็รู้สึกว่าเราน่าจะเอาธรรมะมาใส่กับชีวิตประจำวันให้มากขึ้นซะแล้ว

big_birdy

Tar la la กล่าวว่า...

บางที ถ้าโลกเราทุกวันนี้มีสิ่งเหล่านี้ให้มากขึ้น
เราอาจจะยิ้มให้แก่กันและมีความสุขกันได้มากกว่านี้นะคะ
^ ^

แสดงความคิดเห็น